นิทานชาดก



    นิทานเรื่อง ดีแต่สอนคนอื่น 


ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุณีผู้พร่ำสอนรูปหนึ่งมักห้ามภิกษุณีรูปอื่นๆไปในที่หวงห้ามแต่ ตนเองกลับไป เป็นเหตุให้ประสบเหตุร้าย ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นนกป่า จ่าฝูงของนกนับร้อยตัว อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ วันหนึ่ง มีนางนกจัณฑาลตัวหนึ่ง แตกฝูงไปหากินไกลถิ่น ที่ทางใหญ่กลางดง ได้เมล็ดข้าวเปลือกและถั่วที่ตกหล่นจากเกวียนชาวบ้านเป็นอาหาร เกิดความโลภอยากเก็บไว้กินผู้เดียว เมื่อกลับมาหาฝูงจึงให้โอวาทแก่ฝูงนกว่าธรรมดาทางใหญ่ในดงลึก มีภัยเฉพาะหน้ามาก ทั้งจากฝูงช้าง ม้าและยวดยานที่เทียมโค ถ้าไม่โผบินขึ้นได้เร็ว ก็อย่าไปที่นั้นนะ ฝูงนกจึงตั้งชื่อให้นางนกนี้ว่า แม่อนุสาสิกา  ต่อมาวันหนึ่ง นางกำลังหากินอยู่ ได้ยินเสียงยานแล่นมาด้วยความเร็ว ก็เหลียวดูนึกว่า ยังอยู่ไกลตัว ทันใดนั่นเอง ยานพลันถึงตัวนาง ด้วยความเร็วปานลมพัด นางไม่อาจโผบินขึ้นได้ทัน จึงถูกล้อยานทับตัวขาดเป็นสองท่อน นอนตายอยู่ตรงนั้น นกจ่าฝูง เมื่อไม่เห็นนางกลับมาเข้าฝูง จึงเรียกประชุมนกและให้ออกติดตามหา ไปพบนางในที่นั้น จึงกล่าวคาถาว่านางนกป่าชื่ออนุสาลิกา พร่ำสอนนกตัวอื่นอยู่เนืองนิตย์ แต่ตัวเองกลับโลภจัด จึงถูกล้อรถบดขยี้ขาดเป็น ๒ ท่อน นอนอยู่ที่หนทางใหญ่

         นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  
        กินคนเดียวไม่อร่อย และกินได้ไม่นาน

       

  นิทานเรื่อง กากินน้ำทะเล

 
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวันเมืองสาวัตถี ทรงปรารภพระอุปนันทเถระผู้ไม่รู้จักพอแล้วเที่ยวสอนภิกษุอื่นให้รู้จักพอ จึงตรัสพระคาถาว่า บุคคลควรตั้งตนไว้ในคุณอันสมควรก่อน แล้วพึงสั่งสอนผู้อื่นในภายหลัง บัณฑิตจะไม่พึงเศร้าหมอง แล้วได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นเทวดารักษาสมุทร สมัยนั้นมีกาน้ำตัวหนึ่งบินเที่ยวหากินอยู่ในมหาสมุทรนั้นมักร้องห้ามฝูงนก ฝูงปลาว่า ท่านทั้งหลาย จงดื่มกินน้ำทะเลเพียงเล็กน้อยนะ ช่วยกันประหยัดน้ำทะเลด้วย เทวดาเห็นพฤติกรรมของมันแล้วจึงถามไปว่า ใครนะ ช่างบินวนเวียนอยู่แถวนี้ เที่ยวร้องห้ามฝูงนกฝูงปลาอยู่ ท่านจะไปเดือดร้อนอะไรกับน้ำทะเลด้วยละ มันจึงตอบว่า ข้าพเจ้าคือกาผู้ไม่รู้จักอิ่ม ปรารถนาจะดื่มน้ำทะเลผู้เดียว กลัวว่าน้ำทะเลจะหมดก่อน จึงต้องร้องห้ามอย่างนั้น เทวดาได้ฟังเช่นนั้นจึงกล่าวเป็นคาถาว่าทะเลใหญ่นี้จะลดลงหรือเต็มอยู่ก็ตามที ที่สุดของน้ำแห่งทะเลใหญ่นั้นที่บุคคลดื่มแล้ว ใคร ๆ ก็รู้ไม่ได้
ทราบว่า สาครอันใคร ๆ ไม่อาจดื่มให้หมดสิ้นไปได้ ว่าแล้วก็แปลงร่างเป็นรูปที่น่ากลัวขับไล่กาน้ำนั้นให้หนีไป
 นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
     อย่าไปพะวงอะไรกับสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะจะทำให้จิตฟุ้งซ่านไปเปล่า ๆ
ที่มา : http://www.nithan.in.th/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%97%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A5

                      Photobucket          Photobucket         Photobucket

       นิทานเรื่อง โลภมากลาภหาย

 

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุณีชื่อถูลนันทา ผู้ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคกระเทียม สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่ากาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพราหมณ์ตระกูลหนึ่ง มีภรรยาและได้ลูกสาว ๓ คน ชื่อ นันทา นันทวดี และสุนันทา พอลูกสาวทั้ง ๓ ได้สามีแล้วทุกคน พราหมณ์ก็ได้เสียชีวิตไปเกิดเป็นหงส์ทองคำระลึกชาติได้ วันหนึ่ง ได้เห็นความลำบากของนางพราหมณีและลูกสาวของตนที่ต้องรับจ้างคนอื่นเลี้ยงชีพ จึงเกิดความสงสาร ได้โผบินไปจับที่บ้านนางพราหมณีแล้วเล่าเรื่องราวให้แก่นางพราหมณีและลูกสาว ฟัง และได้สลัดขนให้แก่พวกเขาเหล่านั้นคนละหนึ่งขนแล้วก็บินหนีไป หงส์ทองได้มาเป็นระยะๆ มาครั้งใดก็สลัดขนให้ครั้งละหนึ่งขน โดยทำนองนี้นางพราหมณีและลูกสาวจึงร่ำรวยและมีความสุขไปตามๆ กันต่อมาวันหนึ่งนางพราหมณีเกิดความโลภจึงปรึกษากับลูกๆ ว่า ถ้าหงส์มาครั้งนี้ พวกเรา จะจับถอนขนเสียให้หมด เพื่อจะได้มีทรัพย์สมบัติมาก พวกลูกๆ ไม่เห็นดีด้วย แต่นางพราหมณีไม่สนใจ ครั้นวันหนึ่งพญาหงส์ทองมาอีก นางก็ได้จับถอนขนเสียให้หมด ขนเหล่านั้นกลายเป็นขนนกธรรมดาเท่านั้น เพราะพญาหงส์ทองมิได้ให้ด้วยความสมัครใจ นางพราหมณีได้เลี้ยงหงส์นั้นจนขนงอกขึ้นใหม่เต็มตัว หงส์ก็ได้บินหนีไปโดยไม่ได้กลับมาอีกเลยพระพุทธองค์ เมื่อนำอดีตนิทานมาสาธกแล้ว ได้ตรัสพระคาถาว่า บุคคลได้สิ่งใด ควรยินดีสิ่งนั้น เพราะความโลภเกินประมาณ เป็นความชั่วแท้ นางพราหมณี จับเอาพญาหงส์ทองแล้วจึงเสื่อมจากทองคำ
   นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
   โลภมาก มักลาภหาย
ที่มา : http://www.nithan.in.th/%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%A0%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A0%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A2

                                
                 

                      Photobucket      Photobucket      Photobucket      Photobucket

2 ความคิดเห็น:

  1. ทุกเรื่องสอดแทรกแง่คิดดีๆให้กับผู้ที่สนใจดีมากเลยคะ

    ตอบลบ
  2. ให้ข้อคิดดีมากค่ะ

    ตอบลบ